วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การประเมินโครงการ

การบริหารงานองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางด้านธุรกิจ การเมืองหรือทางการศึกษา ก็ตาม จะใช้แผนงานและโครงการเป็นเครื่องมือ ช่วยให้การ
ดำเนินงานประสบผลสำเร็จ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะหน่วยงานทางการศึกษา ในปัจจุบันมีการวางแผนทำงานอย่างชัดเจน
และปฏิบัติงานตามแผนอย่างจริงจัง แต่จากการนิเทศ ติดตาม ประเมินงาน พบว่า หน่วยงานส่วนมากเน้นการปฏิบัติมากกว่าการประเมิน เมื่อถูกตั้งคำถามว่า
การดำเนินงานตามแผนงานและโครงการประสบผลสำเร็จเพียงใด เช่นถ้าถามถึงงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา ก็จะได้รับคำตอบว่ามีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ
ซึ่งเป็นคำตอบกลาง ๆ ขาดความชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่าคุณภาพด้านใดบ้างที่ดี ปานกลาง หรือต้องปรับปรุง ไม่สามารถบอกได้ว่าคุณภาพโดยรวม พัฒนา
เพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ เพียงใด เป็นต้น
จากตัวอย่างที่กล่าว แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดการประเมินโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน การดำเนินงาน
ตามโครงการ ถ้าไม่มีการประเมินควบคู่กันไป คณะทำงานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะไม่ทราบเลยว่า งานนั้นประสบผลสำเร็จหรือไม่ เพียงใด มีเรื่องใด
ที่ต้องพัฒนาต่อยอด และเรื่องใดต้องช่วยเหลือปรับปรุงเพิ่ม แต่ในทางตรงข้ามถ้าหน่วยงานต่าง ๆ มีการประเมินควบคู่ไปกับการดำเนินงานตามโครงการ
จะช่วยให้ทราบผลที่ชัดเจนและนำไปใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาและพัฒนางานได้ในโอกาสต่อไป
การประเมินโครงการนี้ วิธีที่ดี ควรดำเนินการให้ครบถ้วนทั้งกระบวนการของงาน หรือโครงการ ตามแนวทางต่อไปนี้
1. ประเมินก่อนดำเนินโครงการ
1.1 ประเมินเพื่ออะไร มีส่วนใดบ้างที่ต้องประเมิน
การประเมินก่อนดำเนินงาน เป็นการประเมิน เพื่อวางแผนโครงการโดยพิจารณาว่าโครงการมีความเป็นไปได้หรือไม่ มีความ
เหมาะสม เพียงใด โดย พิจารณาประเมินในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
1.1.1 ความจำเป็นและความต้องการ
1.1.2 ความเหมาะสมและความชัดเจนของวัตถุประสงค์ในโครงการ
1.1.3 ความเหมาะสมของบุคลากร ระยะเวลา งบประมาณ สถานที่และวัสดุอุปกรณ์
1.1.4 เนื้อหาสาระของโครงการ โดยพิจารณาว่ามีมากน้อยเพียงใด ลักษณะงานตามโครงการเหมาะสมหรือไม่
1.1.5 แผนการดำเนินงาน มีความชัดเจนเหมาะสมกับการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
1.2 การพิจารณาประเมิน
การพิจารณาการประเมินสามารถทำได้โดยนำองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ของโครงการทั้ง 5 รายการ ดังกล่าวข้างต้น มาพิจารณาประกอบการประเมิน ผู้ประเมินอาจประกอบด้วย คณะกรรมการดำเนินโครงการ หรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบประเมินโครงการ เพื่อตัดสินใจสรุปว่าโครงการ
ที่วางไว้มีความคุ้มค่า เหมาะสมและเป็นไปได้หรือไม่ที่จะดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้
1.3 เครื่องมือที่ใช้ประเมิน
เนื่องจากการประเมินก่อนดำเนินโครงการนี้ คณะบุคคลเป็นผู้พิจารณาประเมินจากเอกสารหลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง โดยทำการประเมินก่อนดำเนินโครงการคือ ประเมินในส่วนปัจจัยป้อน วิธีประเมินอาจใช้วิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น
1.3.1 การวิเคราะห์เอกสารหลักฐานแล้วสรุปผล
1.3.2 ใช้แบบสำรวจรายการ ประกอบการพิจารณาเอกสารหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากนั้นจึงสรุปและประเมินผล
เพื่อตัดสินใจ เรื่องการประเมินก่อนดำเนินการนี้ ถ้าเป็นโครงการที่มีเทคนิคเฉพาะด้าน อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมินก็สามารถทำได้
2. ประเมินระหว่างดำเนินการ
2.1 ประเมินเพื่ออะไร มีส่วนใดบ้างที่ต้องประเมิน การประเมินระหว่างดำเนินการ เป็นการประเมินเพื่อติดตาม ตรวจสอบและ
หาทางปรับปรุงการปฏิบัติ ซึ่งพิจารณาได้จากด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
2.1.1 ด้านการบริหารหรือการจัดการโครงการ
2.1.2 ด้านวิธีการ หรือวิธีการดำเนินงานตามโครงการ
2.1.3 ด้านกิจกรรม หรือการปฏิบัติกิจกรรมของผู้ร่วมโครงการ
2.2 การพิจารณาประเมิน
การพิจารณาให้ดูที่ความเหมาะสมของการจัดการในการใช้ทรัพยากรและการจัดการให้งานดำเนินไปตามขั้นที่วางไว้ ตลอดจน
พิจารณาถึงเทคนิควิธีการ กิจกรรมต่าง ๆ โดยประเมินว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมส่วนใดบ้าง
2.3 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน
เนื่องจากข้อมูลที่ได้ในการประเมิน จะได้จากการพิจารณาของผู้สังเกต ได้แก่ ผู้รับผิดชอบโครงการหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย
ให้ทำหน้าที่ประเมินโครงการ รวมถึงการได้ข้อมูลจาก ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ร่วมโครงการ เช่น ครู-อาจารย์ เป็นต้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
2.3.1 แบบสังเกตกระบวนการทำงาน
2.3.2 แบบสัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบโครงการ และผู้ร่วมโครงการ
3. ประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการ
3.1 ประเมินเพื่ออะไร มีส่วนใดบ้างที่ต้องประเมิน การประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นการประเมินผลที่ได้ของโครงการหรือเป็น
การประเมินเพื่อสรุปผลโครงการ โดยพิจารณาประเมินส่วนต่าง ๆ ได้แก่
3.1.1 ผลผลิตที่เกิดจากการดำเนินโครงการ เช่น ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ เจตคติของผู้ร่วมกิจกรรมตามโครงการ
3.1.2 ผลกระทบ จากการดำเนินโครงการหมายถึง เมื่อเกิดผลผลิตขึ้นแล้วเป็นเหตุให้เกิดอะไรขึ้นอีก สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือผลกระทบ
3.1.3 ประสิทธิภาพของโครงการ เป็นการพิจารณาถึงสภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ถ้าใช้ทรัพยากรน้อยแล้วมีผลสำเร็จสูงสุดแสดงว่ามีประสิทธิภาพดี
3.2 การพิจารณาประเมิน
ในการประเมินสามารถพิจารณาได้จากผลที่เกิดขึ้น ด้านความรู้ความเข้าใจ ทักษะกระบวนการและเจตคติ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับ
ผู้ร่วมกิจกรรมตามโครงการ ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการรวมทั้งพิจารณาจากผลกระทบและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
3.3 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เนื่องจากผลการประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการ พิจารณาได้จากองค์ประกอบต่าง ๆ หลายด้าน
เครื่องมือที่ใช้ในการวัดเพื่อนำข้อมูลมาสรุปประเมินผล จึงแตกต่างกันไป ตามคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการวัดดังตัวอย่างต่อไปนี้
3.3.1 ด้านความรู้ความเข้าใจ ใช้แบบทดสอบชนิดต่าง ๆ
3.3.2 ด้านทักษะ/กระบวนการ ใช้แบบสังเกตชนิดต่าง ๆ
3.3.3 ด้านเจตคติ หรือความรู้สึก ใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ เป็นต้น
จากรายละเอียดที่กล่าวไว้ข้างต้น คงจะมีส่วนช่วยให้ผู้บริหารและครูอาจารย์ทุกท่าน ได้เห็นประโยชน์และทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ
การประเมินโครงการบ้างตามสมควร ดังนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคต การวางแผนและจัดทำโครงการทุกครั้งของสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง คงจะมีการกำหนดแผนการประเมินโครงการควบคู่ไปกับแผนปฏิบัติการ เพราะนอกจากจะเป็นการควบคุม ติดตาม กำกับและประเมินงานแล้ว
ยังจะช่วยให้งานมีการพัฒนาอยู่เสมอ และได้ข้อมูลความสำเร็จที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมจากการทำงาน การประเมินโครงการถ้ามีการนำมาใช้อย่างจริงจัง
นอกจากจะเกิดประโยชน์โดยตรง ต่อการช่วยให้บรรลุผลตามเป้าหมายของโครงการแล้ว จะทำให้ได้ข้อมูลเพียงพอในการใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาและ
พัฒนางานในโอกาสต่อไป รวมทั้งผลสำเร็จที่ได้รับจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบโครงการ
และผู้เกี่ยวข้องตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น